คลินิกรักษาผมร่วง

ผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้าน

เส้นผมของเราประกอบด้วยเซลล์ที่ตายแล้ว ไม่มีชีวิต ไม่มีความรู้สึก และงอกออกมา ปกคลุมหนังศีรษะ ผมของคนเราจะมีการงอกทดแทนใหม่อยู่ตลอดเวลาในขณะที่ผมเก่ามีการหลุดร่วงออกจากหนังศีรษะก็จะมี ผมใหม่เกิดอยู่ข้างๆแทนที่และงอกชดเชยเส้นที่หลุดไปในวัยหนุ่มสาวเส้นผมจะยาวออก 2.8 มม. ต่อสัปดาห์ ต่อเมื่ออายุมากขึ้นประมาณ 40-45 ปี การงอกของเส้นผมจะลดลง คือยาวออกเพียง 1.82 มม.ต่อสัปดาห์

โดยปกติเส้นผมของคนเราจะมีทั้งหมดประมาณ 100,000-150,000 เส้น และจะหลุดร่วงไปประมาณวันละ 50-100 เส้น  เส้นผมบนหนังศีรษะที่หลุดร่วงไปตามปกติจะเป็นเส้นผมในระยะ Telogen แต่ถ้าวันไหนสระผม อาจจะมีจำนวนที่ร่วงเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าได้ การงอกและการเจริญเติบโตของผมมีรอบระยะเวลาที่จำกัดคือ ตั้งแต่ผมเริ่มงอกจนกระทั่งหลุดร่วงไป จะใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี หรือประมาณ 1,000 วัน เรียกว่า 1 รอบ แล้วหลังจากนั้น รากผมจะหยุดชั่วคราว ประมาณหลายสัปดาห์กว่าจะมีการสร้างเส้นผมขึ้นใหม่ แต่เมื่ออายุมากขึ้น จนถึงวัยชรา รากผมบางส่วนจะมีการเสื่อมสภาพไป และหยุดการทำงาน จึงทำให้เส้นผมมีจำนวนน้อยลง

ดังนั้นหากพบว่ามีผมร่วงมากกว่า 100 เส้นในแต่ละวัน ก็หมายความว่าอาการผมร่วงนั้น เป็นสิ่งที่ผิดปกติ หรือการที่มี ผมร่วงไม่มาก แต่มีลักษณะผมร่วงเป็นบางบริเวณ เรียกว่า “ผมร่วงเป็นหย่อม” ก็ถือว่าเป็นโรคของผมเช่นกัน ควรจะรีบหาสาเหตุ และรักษาให้หายโดยเร็วที่สุดมิฉะนั้นอาจทำให้ผมร่วงมากขึ้น จนผมบางลง หรือศีรษะล้านในที่สุด

สาเหตุของผมร่วง

  1. ปัจจัยภายในร่างกาย
  2. ปัจจัยภายนอกร่างกาย

1. ปัจจัยภายในร่างกาย ที่เป็นสาเหตุของผมร่วง

  • ผมร่วง-เกิดจากกรรมพันธุ์

คุณอาจจะพบบ่อยว่าคนไหนที่มีผมบาง หรือศีรษะล้าน ก็มักจะมีคนในครอบครัวที่เป็นด้วย มักจะเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ส่วนมากมักเริ่มมีผมร่วง เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น หลังจากนั้นก็จะร่วงจนผมบางลงเรื่อยๆเมื่ออายุมากขึ้น ผู้ชายมักเริ่มมีผมบางที่บริเวณกลางศีรษะก่อน แต่ผู้หญิงมักมีผมบางทั่วศีรษะ สาเหตุผมร่วงเกิดจากฮอร์โมนเพศชายที่เรียกว่า แอนโดรเจน (androgen) ซึ่งฮอร์โมนนี้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงวงจรของผมในระยะ anagen ทำให้มีอายุสั้นลงจึงทำให้เส้นผมในระยะสุดท้าย telogen มีมากขึ้น ผมจึงร่วงมากขึ้นและในที่สุดก็จะทำให้รูขุมขนบางแห่งหายไป จึงไม่มีผมใหม่งอกขึ้นทดแทน ทำให้ผมบาง หรือศีรษะล้านนั้นเอง

  • ผมร่วง-เกิดจากฮอร์โมน

โรคของต่อมไร้ท่อ ทำให้ผมร่วงทั่วศีรษะหรือ ผมร่วงเป็นหย่อมๆได้ เช่น โรคของต่อมธัยรอยด์(Thyroid), ต่อมใต้สมอง(Pituitary)หรือ คนที่เป็นเบาหวาน ซึ่งควบคุมไม่ได้ก็อาจมีผมร่วงได้

ฮอร์โมน DHT ( Dihydroxytestosterone) เป็นส่วนหนึ่งของโฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone) ที่มีหน้าที่กระตุ้นไขมันที่บริเวณรากขนหรือรากผม ทำให้เส้นผมมันเป็นเงางาม ไม่แห้งกระด้าง แต่หากกรณีที่มีDHT มากเกินไป จะมีผลให้วงจรชีวิตของเส้นผมเร็วขึ้น ผมอายุสั้นลง และหลุดร่วงง่ายขึ้น และเมื่องอกขึ้นใหม่ ก็จะมีขนาดเล็กลงบางลงเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ไม่งอกอีกเลย ทำให้เกิดปัญหา ผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้าน ซึ่งเกิดได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่พบในผู้ชายมากกว่า

  • ผมร่วง-เกิดจากความเครียด พักผ่อนน้อย

ผมร่วงจากความเครียด มีผลทำให้การทำงานของฮอร์โมนผิดปกติ ซึ่งมักจะกระตุ้นวงจรชีวิตของเส้นผมให้สั้นลง มีผลทำให้เกิดผมร่วงทั่วศีรษะ ( Telogen Efflutivum ) หรือ ผมร่วงเป็นหย่อม ( Alopecia areata) ได้

  • ผมร่วง-เกิดจากความเจ็บป่วย

ผมร่วงหลังจากความเจ็บป่วย เช่น มีไข้สูง ได้รับการผ่าตัด เสียเลือดมาก ช๊อค ขาดสารอาหาร หรือหลังคลอดบุตร จะทำให้ผมในระยะ anagen เปลี่ยนเป็นผมในระยะ telogen จำนวนมาก หลังเกิดความผิดปกติต่างๆในร่างกาย ผมจะร่วงมาก หลังจากผ่านเหตุการณ์ไปแล้วประมาณ 2-4 เดือน ผมร่วงชนิดนี้ ไม่จำเป็นต้องรักษาเพราะผมจะงอกใหม่ขึ้นมาทดแทนภายใน เวลาประมาณ6 เดือน แต่หากเกิดภาวะผิดปกติซ้ำอีก อาจทำให้ต่อมผมบางส่วนถูกทำลายไป ทำให้ผมขึ้นใหม่น้อยกว่าเดิมได้

2. ปัจจัยภายนอกร่างกาย ที่เป็นสาเหตุของผมร่วง

  • ผมร่วง-เกิดจากยา เคมีบำบัด และสารพิษ

ยาหลายชนิดที่ทำให้ผมร่วงได้ เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง ยาอื่นๆ(ดูในตาราง) หรือการได้รับสารพิษ เป็นต้น ทำให้ผมร่วงได้มากถึงวันละ 100-1,000 เส้น เกิดจากการที่ผมในระยะ anagen หยุดการเจริญเติบโตทำให้เส้นผมขาดและหลุดร่วงไป ผมจึงร่วงเป็นวันละมากๆได้เพราะเส้นผมปกติจะอยู่ในระยะ anagen ถึงร้อยละ 90 ของผมทั้งหมด ผมมักจะเริ่มร่วงประมาณ 1-2 สัปดาห์ และจะเห็นชัดประมาณ 1-2 เดือน หลังได้รับยา ผมอาจร่วงจนหมดศีรษะได้ แต่หลังจากหยุดยา ผมก็จะขึ้นใหม่ได้เอง โดยไม่ต้องรักษา

ตารางแสดงสาเหตุที่ทำให้ผมร่วงจากยาเคมีบำบัดและสารพิษ 

  • การขาดสารอาหารหรือแร่ธาตุ

การขาดโปรตีนอย่างเดียว(Kwasshiokor) หรือการขาดแร่ธาตุต่างๆเช่นเหล็ก สังกะสี จะทำให้มีผมร่วงทั่วศีรษะได้ แต่ถ้าขาดโปรตีนเป็นช่วงๆผมอาจจะไม่ร่วง แต่มีสีจางสลับกับสีเข้มได้

  • การทำผม การมัดผม ดึงรั้งผม

บริเวณหน้าผาก หรือเกล้าผมบ่อย เป็นประจำ ทำให้ผมบริเวณนั้นร่วงง่ายขึ้น และผมบางลง ถ้าทำอย่างนั้นเป็นเวลานานมาก ผมบริเวณนั้น อาจจะไม่งอกขึ้นอีกเลย

  • ผมร่วง จากการติดเชื้อ

ผมร่วง ที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อรา-โรคกลาก, เชื้อแบคทีเรีย เช่น ฝี , รูขุมขนอักเสบ, วัณโรค, โรคเรื้อน, ซิฟิลิส ระยะที่ 3 , เชื้อไวรัส เช่น อีสุกอีใส งูสวัด, เชื้อโปรโตชัว เช่น Leishmaniasis เมื่อตรวจดูหนังศีรษะจะมีแผลเป็น เนื่องจากผิวหนังและรากผมถูกทำลาย เป็นลักษณะผมร่วงแบบมีแผลเป็น เมื่อรักษาโรคหายแล้ว ผมจะไม่งอกขึ้นมากอีกเลย

  • ผมร่วง จากเนื้องอกหรือมะเร็ง

ผมร่วงที่เกิดจากเนื้องอกของต่อมเหงื่อ ต่อมไขมัน รูขุมขน หรือมะเร็งของผิวหนัง มะเร็งที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น

หรือ Lymphoma

การรักษาผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้าน ขึ้นอยู่กับสาเหตุและปัจจัยต่างๆทั้งภายนอกและภายในร่างกายของแต่ละคน หากมีอาการผมร่วงเรื้อรัง หรือผมร่วงรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการตรวจรักษาและหาสาเหตุของอาการผมร่วง เพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด…