ภาวะลำไส้รั่ว ( Leaky gut Syndrome หรือ Increase Intestinal Permeability)

มิถุนายน 19, 2018

   ลำไส้รั่วในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงลำไส้ทะลุ เช่นในกรณีที่เป็นแผลในลำไส้ และแผลนั้นเป็นมากจนทำให้ลำไส้ทะลุ ซึ่งในกรณีนี้ผลก็คืออาหารที่รับประทานเข้าไป จะรั่วออกมาในช่องท้องได้ แต่ลำไส้รั่วในที่นี้  หมายถึงการรั่วซึมของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในทางเดินอาหารส่วนลำไส้เล็ก เข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตอย่างผิดธรรมชาติ ทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า ภาวะลำไส้รั่ว ( Leaky gut หรือ Increase Intestinal Permeability)
   โดยปกติแล้วสารอาหารต่าง ๆ เช่น คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน เมื่อย่อยดีแล้วก็จะถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็ก เข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต เพื่อให้ร่างกายนำสารอาหารเหล่านี้ไปใช้ต่อไป โดยธรรมชาตินั้น เซลล์บุผนังและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของลำไส้เล็กจะทำหน้าที่คอยป้องกัน และจะยินยอมให้เฉพาะสารอาหารที่ย่อยแล้วอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งเกลือแร่และวิตามินเท่านั้น ที่จะถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตของร่างกายได้ แต่ในคนที่เซลล์ผนังสำไส้มีความผิดปกติเกิดขึ้น หรือที่เราเรียกว่า ภาวะลำไส้รั่ว นี้ เซลล์จะยอมให้สิ่งที่ไม่พึงประสงค์หลุดผ่านผนังลำไส้ เข้าสู่กระแสเลือดได้ สิ่งที่ไม่พึงประสงค์ของร่างกายเหล่านี้ เช่น อาหารที่ย่อยไม่สมบูรณ์, สารพิษ, แบคทีเรีย เป็นต้น 
   สิ่งเหล่านี้เมื่อเข้าสู่กระแสเลือด ก็เปรียบเสมือนสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย ร่างกายก็จะปฏิเสธไม่ตอบรับสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ ด้วยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงานหนักขึ้น เพื่อมาต่อต้าน ผลที่ตามมาก็คืออาการอันไม่พึงประสงค์ เช่น ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง แน่นท้อง อ่อนเพลียง่าย ปวดตามข้อและกระดูก ผื่นลมพิษ ภูมิแพ้ สิว ไซนัสหรือบางครั้งอาจจะแสดงอาการของการแพ้อาหารชนิดใดชนิดหนึ่งชัดเจน เช่น กินกุ้งแล้วหายใจไม่ออก เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่อาการอาจจะเล็กน้อยจนเราแทบไม่สังเกต เช่น บางคนดื่มนมแล้วแน่นอึดอัดท้อง สักพักก็จะหายอาจจะนึกว่าเป็นธรรมดา แต่จริง ๆ แล้ว ร่างกายอาจจะแพ้บางอย่างในนม เมื่อดื่มนมทีไร ก็จะเกิดภาวะลำไส้รั่ว (โดยเราไม่รู้ตัว) เพราะเกิดการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว

   สาเหตุการเกิดภาวะ Leaky gut นี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีสมมติฐานเช่นการแพ้อาหารโดยที่เราไม่ทราบ  (อย่างที่บอกว่าอาจจะไม่แสดงอาการ หรืออาการน้อยมากจนไม่ทราบ จะทราบได้โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์ เช่น เจาะเลือดดูว่า ร่างกายสร้างภูมิต้านทานที่ผิดปกติต่ออาหารชนิดไหนบ้าง) หรืออาจจะเกิดจากภาวะการอักเสบเรื้อรังของลำไส้ การรับประทานยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยาต้านการอักเสบแบบไม่ใช่สเตียรอยด์ (ที่แพทย์มักจะให้เวลามีอาการปวดข้อ กระดูกและกล้ามเนื้อ) การได้ยารักษามะเร็ง หรือฉายรังสี หรือการดื่มแอลกอฮอล์มากเกิน หรือภาวะท้องผูกเรื้อรัง จนทำให้ผนังลำไส้เกิดการระคายเคืองหรือการอักเสบ เป็นต้น ภาวะลำไส้รั่วนี้ สามารถตรวจวินิจฉัยได้ โดยการตรวจพิเศษเพื่อดูการรั่วซึมของผนังลำไส้
   ภาวะลำไส้รั่วนี้ อาจจะเป็นสาเหตุของโรคหลายชนิดที่ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน มักจะรักษาไม่หายขาด เช่น โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Sydrome) ระบบทางเดินอาหารอักเสบ (Crohn’s disease) ,ภูมิแพ้  ,ข้ออักเสบรูมาตอยด์และโรคต้านภูมิตนเองอื่น ๆ ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรังโดยหาสาเหตุไม่ได้ และโรคสารพัดปวดเรื้อรังเป็นต้น สำหรับการรักษา ก็ดูจากสาเหตุที่ทำให้เกิด เช่น หลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อภูมิแพ้, หลีกเลี่ยงการรับประทานยาฆ่าเชื้อเป็นประจำหรือนานเกินไป รับประทานอาหารที่มีเส้นใยมากเช่นผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ย่อยยากหรือหลีกเลี่ยงการดื่มนม ในกรณีที่เกิดอาการแพ้ ฯลฯ

การรักษาภาวะลำไส้รั่ว

1.อาหาร งดอาหารที่ย่อยยาก นม น้ำเต้าหู้ อาหารปิ้งย่าง อาหารดิบ

2.ท้องผูก ใช้สมุนไพรที่ช่วยระบายท้อง ปรับสมดุลลำไส้และการขับถ่าย มีส่วนช่วยในการรักษาและป้องกันโรคลำไส้รั่วได้ เช่น ตรีผลา ซึ่งช่วยทำให้ขับถ่ายง่ายขึ้น ปรับสมดุลลำไส้

3.โปรไบโอติกส์ Probiotics อาหารที่มีแบคทีเรียที่ดี ช่วยปรับสมดุลลำไส้ ทำให้สุขภาพของลำไส้ดีขึ้น และยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้นอีกด้วย อาหารที่เป็น Probiotics ประเภทหมักดอง เช่น นมเปรี้ยว, โยเกิร์ต, กิมจิ หรือ อาหารตามธรรมชาติที่มี Probiotics มากเช่น ข้าวสาลี, กระเทียม, กล้วย, หอมหัวใหญ่, ต้นหอม, น้ำผึ้ง, หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น